ISO 26000 : ISO ตัวใหม่มาแรงที่บริษัทต้องจับตามอง (ตอนที่ 3/4)
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected] ; [email protected]
สำหรับฉบับร่าง ISO 26000 จะครอบคลุมถึงแนวทางการจัดการสังคมใน 7 หลักการ และ 7 หัวข้อหลัก ดังนี้
7 หลักการ ของ SR (อ้างอิงเอกสารประกอบการบรรยาย มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม(CSR-DIW) พ.ศ.2552 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม , วันที่ 9 เมษายน 2552)
1. สามารถตรวจสอบได้ (Accountability)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในสิ่งที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากองค์กร โดยองค์กรควรยอมรับการตรวจสอบ และพร้อมที่จะรับผิดชอบในผลการตรวจสอบนั้น
· ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ จะต้องตอบคำถามต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ขององค์กร หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย และชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร
· ระดับของความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ควรจะสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารซึ่งมีอำนาจตัดสินใจ ในกรณีที่เกิดการกระทำที่ผิดพลาดขึ้น จะต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้น และดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
2. ความโปร่งใส (Transparency)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความโปร่งใสในการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมขององค์กร ที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
· ผู้ประกอบการควรเปิดเผยนโยบาย การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ถูกต้อง และครบถ้วน โดยข้อมูลดังกล่าวควรเตรียมพร้อมไว้สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้สามารถที่จะเข้าถึงได้ ข้อมูลดังกล่าวควรเหมาะสมกับช่วงเวลา เป็นข้อเท็จจริง และชัดเจน
3. ความมีจริยธรรม (Ethical)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม และอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม โดยคำนึงถึงคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีการพัฒนาโครงสร้างธรรมาภิบาลที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม พร้อมทั้งมีกลไกในการควบคุมดูแลให้เกิดการปฏิบัติ การรายงานผลการปฏิบัติ การป้องกันและการแก้ไขที่ไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งต่อผลประโยชน์ขององค์กรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่มีจริยธรรม
4. การรับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Respect for and considering of stakeholder interests)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เคารพต่อผลประโยชน์และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำนึกในสิทธิทางกฎหมายและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย คำนึงถึงความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการติดต่อและการเข้าไปดำเนินการร่วมกับองค์กร คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร นอกจากนี้ควรพิจารณามุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจจะถูกกระทบจากการตัดสินใจหรือการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for rule of law)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ต้องยอมรับในการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมขององค์กร และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับกฎข้อบังคับที่ออกด้วยอำนาจกฎหมาย นโยบาย กฎระเบียบ และระเบียบปฏิบัติขององค์กรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลตามภาระหน้าที่ตามกฎหมาย และทบทวนกฎหมายเป็นระยะ
6. การยอมรับในมาตรฐานสากล (Respect for international norms)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรเคารพ และยึดมั่นต่อแนวปฏิบัติสากล หลีกเลี่ยงการร่วมกับองค์กรอื่นในการดำเนินกิจกรรมที่ผิดต่อแนวปฏิบัติสากล และในสถานการณ์ที่ขัดกับแนวปฏิบัติสากล ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรพิจารณาความเหมาะสม ทบทวนการดำเนินกิจกรรม และความสัมพันธ์ภายใต้ขอบเขตอำนาจของกฎหมาย
· ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองทางสังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศที่องค์กรตั้งอยู่ องค์กรควรพิจารณายึดหลักปฏิบัติตามสากล
7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for human rights)
· ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกประเทศ ทุกวัฒนธรรม และทุกสถานการณ์
· ในสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกปกป้อง องค์กรต้องจัดการให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงสถานการณ์การได้มาซึ่งผลประโยชน์
· ในสถานการณ์ที่กฎหมายในประเทศ หรือการดำเนินงานไม่ได้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม ให้ยึดถือหลักการเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล
ผู้ชม 4,761 วันที่ 27 มิถุนายน 2553