ISO 26000 : ISO ตัวใหม่มาแรงที่บริษัทต้องจับตามอง (ตอนที่ 4/4)
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected] ; [email protected]
7 หัวข้อหลัก SR
เนื่องจากประเด็น 7 หัวข้อหลักมีรายละเอียดมาก ผู้เขียนขอสรุปประเด็นหัวข้อหลักไว้ดังนี้
· สิ่งแวดล้อม (The environment)
· สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
· การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour practice)
· การดำเนินงานที่เป็นธรรม (Fair operating practice)
· การมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม (Community involvement and development)
· ประเด็นทางลูกค้า (Consumer issues) และ
· หลักจริยธรรมในการบริหารจัดการองค์กร/หลักธรรมาภิบาล (Organizational Governance)
สำหรับประเทศไทย องค์กรภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมองค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีภารกิจหลักในการกำกับดูแลและผลักดันให้ธุรกิจอุตสาหกรรมดำเนินการและพัฒนาไปอย่างยั่งยืน โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของสากลได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบ จึงได้จัดทำโครงการการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works: CSR-DIW) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้สามารถนำเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial work: CSR-DIW) ไปปฏิบัติ และได้รับการรับรองการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม และ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมพัฒนาตนเองเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล (ISO 26000 Social Responsibility) ทั้งนี้ มีการคัดเลือกองค์กรธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ มาตรฐาน CSR-DIW ได้รับโล่ และเกียรติบัตรมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ประจำปี (ที่มา : http://www.diw.go.th/csr/index.htm )
บทสรุป ISO 26000
ไม่ทราบว่าจะเป็นโชคดี หรือ โชคร้าย ที่ ISO 26000 จะเป็นเพียง เอกสารคำแนะนำ (guidance document) เท่านั้น และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ (Management System Standard) จึงไม่สามารถให้การรับรอง (Certified) ได้เหมือนการรับรอง ISO 9001, ISO 14001 หากบริษัทของท่าน ประสงค์จะดำเนินการ CSR ให้ได้ผล ผู้เขียนแนะนำให้ติดต่อทางกรมโรงงาน เพื่อเข้าร่วมประกวดและกิจกรรมของ CSR ที่ทางองค์กรภาครัฐจัดให้ครับ
อย่างไรก็ตาม ISO 26000 ย่อมเป็นบริบทที่จะนำพาองค์กรธุรกิจและองค์กรภาครัฐไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป ผู้เขียนเห็นว่า กลยุทธ์ของการทำ CSR บริษัทต้องมององค์กรแบบ “Outside-in” เพื่อมองว่าชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมภายนอกต้องการอะไรที่องค์กรสามารถตอบสนองให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงได้ และแบบ “Inside-out” เพื่อสำรวจว่าองค์กรของเรามีทรัพยากร มีจุดแข็งและมีจุดขายอะไรบ้างที่จะสื่อสารให้สาธารณชนภายนอก และมีสิ่งใดบ้างที่องค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมและชุมชนสิ่งแวดล้อมได้ ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบ win-win มิใช่จ้องจะเอารัดเอาเปรียบกันครับ
******End of Article*****
ผู้ชม 4,764 วันที่ 27 มิถุนายน 2553