EICC (ELECTRONIC INDUSTRY CODE OF CONDUCT)
จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ตอนที่ 1
ปิยะชัย จันทรวงศ์ไพศาล
[email protected], [email protected]
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์เริ่มสร้างมาตรฐานการทำงานให้พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน การเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การคุ้มครองแรงงานที่เป็นธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ดังนั้นจรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิต OEM (Original Equipment Manufacturers, ผู้ให้บริการ EMS (Electronic Manufacturing Service) firms และผู้ออกแบบ ODM (Original Design Manufacturers) ตามกระบวนการ Supply Chains จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ในประเทศไทยไม่อาจหลีกพ้นที่ต้องปฏิบัติตาม
เพื่อให้จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ ประสบความสำเร็จ ทำให้ suppliers ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ยอมรับ และปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดไว้โดยนำมาจาก มาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หมายความว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจรรยาบรรณทางธุรกิจของอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์คือผู้ที่ยอมรับข้อเสนอจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย (Stakeholders) เพื่อพัฒนา และปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ (EICC)
ผลกระทบที่ตามจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ EICC น่าจะเป็นผลดีต่อลูกจ้าง พนักงานและราชการไทยที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานต่อชีวิตและสุขภาพของพนักงาน ปัญหาค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์นาจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต แต่เมื่อมองกลับในอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการในไทย ย่อมเป็นภาระต้นทุนไม่น้อยที่จะดำเนินการให้เป็นไปตาม EICC อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงนำองค์ประกอบของจรรยาบรรณทางธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ มาอธิบายและเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจใช้เป็นแนวทางต่อไปในอนาคต
จรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ (EICC) แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลัก คือ
1. แรงงาน
2. สุขภาพและความปลอดภัย
3. สิ่งแวดล้อม
4. ระบบการบริหารจัดการ
5. จริยธรรม
หมวดที่ 1 แรงงาน
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วม EICC ต้องให้คำมั่นในการคุ้มครองสิทธิมนุษย์ชนของพนักงานและความเคารพในศักดิ์ศรีด้วยความเข้าใจของสังคมสากล การยอมรับมาตรฐานสากลด้านแรงงาน เช่น ILO (International Labor Standards), Ethical Trading Initiative (ETI) ถูกนำมาใช้ใน EICC และเพื่อใช้เป็นข้อมูลเสริมที่เป็นประโยชน์
มาตรฐานด้านแรงงานต่างๆ ได้แก่
1.1 เสรีภาพในการสมัครใจทำงาน
แนวทางปฏิบัติ
· การทำงานภายในองค์กรต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ห้ามใช้การบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง
· พนักงานมีอิสระที่จะออกจากงานได้ด้วยเหตุผลอันสมควร
· พนักงานไม่จำเป็นต้องส่งมอบเอกสารทางราชการใดๆ พาสปอร์ตหรือใบอนุญาตการทำงานเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขการจ้างงาน
1.2 หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานเด็ก
ความหมายของ “เด็ก” หมายถึงบุคคลทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี (หรือ 14 ปี แล้วแต่กฏหมายของแต่ละประเทศกำหนดไว้)หรือต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ หรืออายุต่ำกว่าการจ้างงานของประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขใดเข้มงวดกว่า
แนวทางปฏิบัติ
· ห้ามใช้แรงงานเด็กในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้า
· การใช้โรงงานเป็นสถานที่ของโครงการฝึกงานต้องปฏิบัติตามกฏหมายและกฏระเบียบที่ได้กำหนดไว้
· พนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรทำงานในสถานที่ที่อาจมีอันตรายต่อความปลอดภัยหรือสุขภาพ
1.3 ชั่งโมงการทำงาน
แนวทางปฏิบัติ
· การทำงานแต่ละสัปดาห์ ต้องไม่เกินเกณฑ์สูงสุดตามที่กฏหมายกำหนดไว้
· การทำงานในหนึ่งสัปดาห์ไม่ควรเกิน 60 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ซึ่งรวมถึงทำงานล่วงเวลา ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
· พนักงานควรได้รับอนุญาตให้หยุดงานได้อย่างน้อยหนึ่งวันต่อหนึ่งสัปดาห์
1.4 ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ
แนวทางปฏิบัติ
· ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการต่างที่ควรได้รับต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
· ค่าชดเชยที่จ่ายให้กับพนักงานต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวกับค่าจ้าง
· ค่าล่วงเวลา (OT) ต้องมีอัตรามากกว่าค่าจ้างปกติตามกฎหมาย
· ห้ามหักค่าจ้างกับพนักงานในกรณีที่พนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับทางวินัย หรือในกรณีที่เป็นเงื่อนไขการปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของบริษัท
1.5 มนุษยธรรม
แนวทางปฏิบัติ
· นโยบายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับมนุษยธรรมต้องถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรและสื่อสารให้กับพนักงานทุกคนทราบภายในบริษัท
· ต้องไม่มีการลงโทษใดๆแก่พนักงานโดยขัดต่อหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ การเฆี่ยนตี การบังคับด้านจิตใจ หรือ การลงโทษทางร่างกาย หรือ วาจาหรือใช้วิธีข่มขู่ คุกคามใดๆแก่พนักงาน
1.6 ห้ามเลือกปฏิบัติ
แนวทางปฏิบัติ
· บริษัทต้องมีพันธะผูกพันที่ทำให้สถานประกอบการปราศจากการคุกคาม และปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย
· บริษัทไม่ควรนำการเลือกปฏิบัติมาใช้เช่นเรื่อง เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว อายุ เพศ ความเบี่ยงเบนทางเพศ เผ่าพันธุ์ คนพิการ คนท้อง ศาสนา การเมือง สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือ สถานภาพสมรส หรือในการว่าจ้างงาน และการปฏิบัติในการทำงาน เช่น การเลื่อนตำแหน่ง การให้รางวัล และส่งเสริมการฝึกอบรม
· ห้ามบริษัทนำผลการตรวจร่างกายมาใช้ในการเลือกปฏิบัติแก่พนักงานหรือผู้ที่กำลังจะเข้าทำงาน
1.7 เสรีภาพในการสมาคม
แนวทางปฏิบัติ
· บริษัทต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อการรวมกลุ่มกันอย่างเสรีด้วยความสมัครใจ การสรรหาตัวแทน การเข้าร่วมหรือมีตัวแทนโดยองค์กรของผู้ใช้แรงงาน ในการเข้าร่วมและไม่เข้าร่วมในสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรอง ตามความสมัครใจ ตามที่กฏหมายได้กำหนดไว้
· พนักงานที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพนักงาน ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และการเข้าถึงผู้บริหารและเพื่อนพนักงานในการทำงานเป็นตัวแทนของพวกเขา
· พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเปิดเผยกับฝ่ายบริหารในเรื่องสภาพการจ้าง โดยปราศจากความหวาดกลัว การถูกลงโทษ คุกคาม หรือข่มขู่
· บริษัทต้องแสดงถึงการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการสื่อสารที่เปิดกว้าง พันธะสัญญาโดยตรงและความมีมนุษยธรรม และการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน
· บริษัทต้องเปิดกว้างให้ตัวแทนของพนักงานและการยื่นข้อเรียกร้องที่ถูกจำกัดด้วยกฏหมาย สามารถสื่อสารโดยตรงระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเพื่อเป็นทางเลือกเพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของพนักงาน ความต้องการและความเห็นต่างๆถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นไปตามความเหมาะสมและความเชื่อถือที่ดีต่อกัน
ในตอนหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอหัวข้อถัดไปครับ ซึ่งบริษัทที่จัดทำระบบการบริหารจัดการ ISO 9001, ISO 14001 และ OHSAS 18001 ย่อมเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากนัก ในการดำเนินงานให้เป็นไปตาม EICC ครับ
ผู้ชม 4,708 วันที่ 07 มีนาคม 2554