แนวทางการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004 สำหรับโรงพิมพ์

ปิยะชัย  จันทรวงศ์ไพศาล

[email protected], [email protected]

 

 

จากประสบการณ์การเป็น QMR/EMR/OHSMR ที่ทำระบบการจัดการคุณภาพ ISO 9001, ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และ ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001 ของผู้เขียนมากว่า 7 ปีในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และประสบการณ์การตรวจประเมินระบบการจัดการ ISO มากว่า 7 ปีในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เช่นเดียวกัน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 ปี ที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ทั้งในฐานะผู้จัดทำระบบ และผู้ตรวจประเมินระบบISO ทำให้ผู้เขียนตระหนักดีว่าระบบการจัดการตามมาตรฐานสากล ISO ของอุตสาหกรรมการพิมพ์มีความแตกต่างกับอุตสาหกรรมบางประเภทในรายละเอียดของการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐาน ISO ที่จะนำมาประยุกต์ใช้  อาทิเช่น กระบวนการออกแบบและพัฒนาของระบบ ISO 9001:2008 ซึ่งจะมีทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging design) และ/หรือ การออกแบบกราฟฟิก (Graphic design) ในขณะอุตสาหกรรมอื่นๆจะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

แต่บทความนี้ ผู้เขียนจะขอแนะนำแนวทางการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004 เพียงบางประเด็นที่สำคัญเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษามาหลายๆบริษัทพบว่า การดำเนินงานตาม ISO 14001 จะมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้างองค์กร, ทำเลที่ตั้ง และกระบวนการภายในค่อนข้างมาก โดยผู้เขียนจะดึงเอาเฉพาะบางส่วนที่เป็นแนวปฏิบัติหลักๆให้นำมาประยุกต์ใช้ดังนี้

1.       ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental aspects)

2.       กฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Legal and other requirements)

3.       การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental complaint)

4.       การจัดการขยะของเสีย (Waste management)

5.       การจัดการน้ำเสีย (Waste water treatment)

6.       การจัดการมลภาวะทางอากาศ (Air Emission Control)

7.       การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency preparedness and response)

สำหรับข้อกำหนดอื่นๆที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวอ้างถึงนั้น ส่วนใหญ่สามารถใช้ร่วมกับระบบ ISO 9001 ได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากนักสำหรับโรงพิมพ์ที่จะดำเนินการต่อไป

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental aspects)

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงพิมพ์ที่สำคัญได้แก่ ขยะของเสีย, น้ำเสีย, กลิ่นไอสารเคมี โดยเฉพาะโรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure) และโรงพิมพ์ ระบบซิลค์สกรีน (silk screen), การใช้ไฟฟ้า, ก๊าซ LPG สำหรับโรงพิมพ์ระบบออฟเซตแบบม้วน, เสียงดัง เป็นต้น

กฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Legal and other requirements)

สำหรับประเด็นข้อกำหนดทางกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงพิมพ์ ทีชี้บ่ง แต่อย่างไรก็ตาม โรงพิมพ์ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม จะต้องนำข้อบังคับของการนิคมฯหรือเขตประกอบการฯมาพิจารณาด้วยครับ  รวมถึงเงื่อนไขแนบท้าย ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) นอกจากนี้ หากโรงพิมพ์ที่มีลูกค้าส่งออก อาจจะต้องนำข้อกำหนดของสารโลหะหนักต้องห้ามตาม RoHS หรือ REACH หรือ PFOS มาอยู่ในการประเมินความสอดคล้องด้วย เป็นต้น

การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental complaint)

ข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของโรงพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกลิ่นเหม็นจากโรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure). โรงพิมพ์ ระบบซิลค์สกรีน (silk screen) และโรงพิมพ์ระบบออฟเซต ที่ใช้หมึก UV นอกจากนี้ เรื่องเสียงดังรบกวน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชุมชนรอบๆโรงพิมพ์อาจจะร้องเรียนได้  อย่างไรก็ตามโรงพิมพ์ที่ตั้งอยู่ในการนิคมฯหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม จะมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนน้อยกว่าโรงพิมพ์ที่ตั้งอยู่นอกนิคมฯหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม  ทั้งเรื่องกลิ่นไอสารเคมีและเรื่องเสียงดังซึ่งจะจัดการได้ยาก  ดังนั้นโรงพิมพ์อาจจะต้องลงทุนในระบบการบำบัดกลิ่นไอสารเคมี หรือ กำแพงกั้นเสียง เพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

การจัดการขยะของเสีย (Waste management)

ของเสียอุตสาหกรรมของโรงพิมพ์ จะเป็นของเสียอันตราย ได้แก่ กระป๋องหมึกพิมพ์, เศษผ้าปนเปื้อน, กากตะกอนน้ำเสียเป็นต้น และของเสียที่ไม่อันตราย ได้แก่ เศษกระดาษ, เศษพลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะต้องส่งไปกำจัด หรือขายให้กับผู้รับบำบัดที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ส่วนสิ่งปฏิกูลสามารถส่งไปกำจัดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ นิคมอุตสาหกรรมหรือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมที่โรงงานตั้งอยู่

การจัดการน้ำเสีย (Waste water treatment)

น้ำเสียจากโรงพิมพ์ระบบเฟล็กโซ (Flexo) และโรงพิมพ์ระบบออฟเซต จะต้องคำนึงปริมาณน้ำเสียที่ปลดปล่อยออกมาในแต่ละเดือน หากมีปริมาณมาก อาจจะต้องบำบัดทางเคมีและทางชีวภาพ เพื่อให้ค่าคุณภาพน้ำเสียอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  ส่วนโรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure) และโรงพิมพ์ ระบบซิลค์สกรีน (silk screen) ซึ่งใข้น้ำมันสารละลายเป็นหลักในกระบวนการผลิต จึงมีปัญหาเรื่องน้ำเสียน้อย แต่อย่างไรก็ตาม หากโรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure) ใดมีการชุบพอกโมลด์พิมพ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทุนระบบบำบัดทางเคมีให้มีสารโลหะหนักไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดด้วย

การจัดการมลภาวะทางอากาศ (Air Emission Control)

โรงพิมพ์ที่มักจะมีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศ ได้แก่ โรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure). โรงพิมพ์ ระบบซิลค์สกรีน (silk screen) และโรงพิมพ์ระบบออฟเซต ที่ใช้หมึก UV จึงอาจจะต้องลงทุนระบบบำบัดกลิ่นไอสารเคมีก่อน เพื่อลดการรบกวนไปสู่ชุมชนรอบโรงงาน และในส่วนพื้นที่บริเวณแท่นพิมพ์ ต้องมีป้ายเตือน และโรงพิมพ์ต้องจัดอุปกรณ์อันตรายส่วนบุคคล (PPE) เช่น หน้ากากคาร์บอนกรองกลิ่นไอสารเคมี แก่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency preparedness and response)

โรงพิมพ์ทุกระบบการพิมพ์ล้วนแล้วแต่มีวัสดุติดไฟได้ง่ายภายในโรงพิมพ์ จึงจำเป็นต้องฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น โดยเฉพาะการซ้อมอพยพหนีไฟแก่พนักงานทุกคนอย่างน้อยปีละครั้งตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะต้องจัดทำแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมีหกรั่วไหล และ แผนฉุกเฉินเกี่ยวกับก็าซ LPG รั่วไหล/ระเบิด (ถ้ามี)

จะเห็นได้ว่าระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ที่จะนำไปประยุกต๋ใช้กับโรงพิมพ์ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก เพียงแต่จะต้องเข้าใจประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามประเภทของโรงพิมพ์ และระบบการควบคุมที่เหมาะสมให้สอดคล้องตามกฎหมายเท่านั้น  ในความเห็นของผู้เขียนโรงพิมพ์ระบบกราเวียร์ (gravure) เป็นโรงพิมพ์ที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าระบบการพิมพ์อื่นๆ และอาจจะต้องมีระบบการจัดการประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนขอฝากให้ผู้ประกอบการโรงพิมพ์นำไปพิจารณาก็คือความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานและชุมชนรอบข้างโรงงาน หากผู้ประกอบการสามารถแสวงหากำไรบนความเดือดร้อนของพนักงานและชุมชนรอบๆโรงงาน ย่อมไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขอย่างแน่นอน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนทุกฝ่ายในสังคมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

*****End of Article*****

 

ผู้ชม 4,714 วันที่ 12 พฤษภาคม 2556